โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดต่อสามารถระบาดในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนและพบได้มากกับเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีลักษณะเด่นคือ มีจุดเทาขาวในปาก และผื่นสีน้ำตาลแดงไล่จากหัวและคอลงมาที่ตัว มักจะหายไปเองภายใน 7 ถึง 10 วันโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม แต่ในบางครั้งมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเช่น ปอดบวมและไข้สมองอักเสบสามารถอันตรายถึงชีวิตได้

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิด โรคหัด กลุ่มแรกคือ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้มากที่สุด กลุ่มที่สองได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อมีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ขาดสารอาหาร อาการป่วยจะรุนแรงและอันตรายกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง

โรคหัด

อาการของโรคหัด

อาการของโรคหัดมักนำด้วยการมีไข้สูง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ไอ ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป นอกจากนี้จะมีผื่นเป็นปื้นสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดขึ้น หลังจากเป็นไข้แล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา แต่เมื่อใดที่ผื่นเหล่านี้ลงมาถึงบริเวณเท้าแล้วไข้ก็จะหายไป

สาเหตุของโรคหัด

โรคหัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสหัด (Measles virus) โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากคนสู่คนเท่านั้น และติดต่อจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่เข้าไปในร่างกายหรือการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด เชื้อไวรัสหัดเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้ค่อนข้างง่าย โดยคนไข้ที่เป็นโรคหัด 1 คนสามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ได้ถึง 15 คน

การแพร่กระจายของโรคหัด

เชื้อไวรัสโรคหัดจะอยู่ในละอองสารคัดหลั่งจากจมูกและปากของผู้ติดเชื้อ คุณสามารถรับไวรัสเหล่านั้นได้จากการสูดอากาศที่มีละอองเหล่านี้เข้าไป หรือสัมผัสกับละอองบนพื้นผิวสิ่งของต่าง ๆ ก่อนนำมือเปื้อนเชื้อเข้าใกล้จมูกหรือปากของตนเอง ผู้ป่วยโรคหัดจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการไปจนถึงหลังจากเป็นผื่นขึ้นครั้งแรกสี่วัน

การวินิจฉัยโรคหัด

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่กล่าวมา และทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด ซึ่งสามารถตรวจดูได้ว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสในปัจจุบัน หรือเป็นการติดเชื้อไวรัสในอดีตที่เคยมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ทั้งนี้เราไม่สามารถแยกได้ว่าภูมิคุ้มกันที่มีนั้นเกิดจากการติดเชื้อในอดีตหรือการฉีดวัคซีน

การรักษาโรคหัด

1. ทานยาพาราเซตตามอลหรืออิบูโพรเฟนเพื่อลดไข้และอาการปวดกล้ามเนื้อ

2. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

3. ปิดม่านเพื่อลดภาวะอ่อนไหวต่อแสงอาทิตย์

4. ใช้ผ้าขนนุ่มชื้น ๆ ทำความสะอาดรอบตา

5. ลาเรียนหรือลางานเป็นเวลาอย่างน้อยสี่วันหลังจากที่เริ่มมีผื่นขึ้น

6. ในกรณีที่ป่วยรุนแรง โดยเฉพาะที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยต้องพาผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที

ที่มา

samitivejhospitals.com

mamypoko.com

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ freddypink.com